การย้ายถิ่นของแรงงาน

สภาพการทำงานและการจ้างงานในภาคเกษตรของประเทศไทย: การสำรวจแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่อ้อย สวนยาง สวนปาล์ม และไร่ข้าวโพด (บทสรุปผู้บริหาร และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย)

โดยประวัติศาสตร์แล้ว ภาคเกษตรถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ของประเทศมีการจ้างงานอยู่ในภาคเกษตร ทั้งนี้ แม้ว่าแรงงานในภาคเกษตรจะมีจำนวนลดลดงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีแรงงานจำนวนถึง 12.7 ล้านคน ที่ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร หรือคิดเป็น 30% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ โดยภาคเกษตรมีแนวโน้มต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมามากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยอุดช่องว่างการขาดแคลนแรงงานที่นับวันยิ่งสูงขึ้น

ภาวะการขาดงานที่มีคุณค่านับเป็นสถานการณ์ที่แรงงานในภาคเกษตรทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ รายงานนี้มุ่งแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์เฉพาะของแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรของประเทศไทย บทวิเคราะห์ในรายงานตั้งอยู่บนข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแรงงานข้ามชาติ 528 คน ซึ่งทำงานเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสี่ชนิดที่สำคัญกับการส่งออกของประเทศ ได้แก่ ข้าวโพด ปาล์ม ยาง และอ้อย รายงานยังใช้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน นายจ้าง และแรงงานข้ามชาติอีกด้วย รายงานฉบับนี้จึงเติมเต็มช่องว่างขององค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการจ้างงานและจัดหางาน สภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตร รวมถึงค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน สุขภาพความปลอดภัยอาชีวอนามัย สภาพที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม ตลอดจนบริการและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ

จากการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์การจ้างงานแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรในปัจจุบัน รายงานได้ระบุถึงช่องว่างด้านนโยบายและการปฎิบัติซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมทุกมิติของการทำงาน