วันแรงงานสากล

ถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสังคม

กิลเบิร์ต เอฟ ฮวงโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

Statement | 01 May 2023
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล ซึ่งเป็นวันที่เราเฉลิมฉลองคุณูปการของแรงงานทั่วโลก วันแรงงานสากลเป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจ การเฉลิมฉลอง และความหวัง

หลังจากสามปีของวิกฤตโควิด-19 ต่อด้วยอัตราเงินเฟ้อ ความขัดแย้ง การขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง เราต้องการการเฉลิมฉลอง แต่คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงการระบาดใหญ่ว่าจะ ‘สร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม’  จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นกับแรงงานส่วนใหญ่ทั่วโลก

ทั่วทั้งโลก ค่าจ้างที่จ่ายจริงลดลง ความยากจนเพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำดูเหมือนจะยิ่งฝังรากลึกกว่าที่เคย

วิสาหกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายแห่งไม่สามารถรับมือกับผลกระทบสะสมที่ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันได้ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก และหลายแห่งได้หยุดดำเนินธุรกิจไป

ผู้คนรู้สึกว่าการเสียสละของตนในช่วงวิกฤตโควิด 19 ยังไม่เป็นที่ตระหนัก เสียงของผู้คนเหล่านั้นไม่ดังและชัดเจนเพียงพอ เมื่อรวมกับการขาดโอกาสต่างๆ  สิ่งนี้ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในระดับที่น่าเป็นห่วง

มันไม่ควรจะเป็นเช่นนี้ เรายังสามารถควบคุมโชคชะตาของเราได้ แต่ถ้าเราต้องการสร้างโลกใหม่ที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและเท่าเทียมกันมากขึ้น เราต้องเลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไป กล่าวคือเส้นทางที่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสังคม

ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำได้เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงอีกด้วย แล้วเราจะทำได้อย่างไร

ประการแรกและสำคัญที่สุด นโยบายและการดำเนินการต้องเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้คนสามารถแสวงหาทั้งความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนาทางจิตวิญญาณที่เต็มไปด้วยเสรีภาพและศักดิ์ศรี ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและโอกาสที่เท่าเทียมกัน แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้กำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ลงนามในปฏิญญาฟิลาเดลเฟีย ในปี ค.ศ. 1944

เอกสารแห่งวิสัยทัศน์นี้ได้ให้หลักการที่เป็นแนวทางสำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคมของเรา ว่าไม่ควรพิจารณาเฉพาะความสำเร็จจากอัตราการเติบโตที่เฉพาะเจาะจงหรือเป้าหมายทางสถิติอื่นๆ แต่ควรตอบสนองต่อความจำเป็นและความปรารถนาของมนุษย์ อันหมายถึงการมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การบรรเทาความยากจน และการคุ้มครองทางสังคมหลัก วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการดำเนินการนี้คือการสร้างงานที่มีคุณภาพเพื่อให้ผู้คนสามารถเลี้ยงดูตนเองและสร้างอนาคตของตนเองได้ – ตามความหมายของ 'งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน' ที่กำหนดในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 8

มันหมายถึงการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาวในยุคสมัยของเราอย่างแท้จริง อันได้แก่ การสร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่จะก่อให้เกิดและสนับสนุนการจ้างงาน การเผชิญหน้าแบบเชิงรุกกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างความมั่นใจว่าเราจะสร้างงาน จะให้การฝึกทักษะและการสนับสนุนช่วงเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นสำหรับแรงงานและธุรกิจเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ให้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรเป็น 'การแบ่งปันผลประโยชน์' แทนที่จะเป็นปัญหา โดยการดำเนินการที่สนับสนุนทักษะ การย้ายถิ่นและการคุ้มครองทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องประเมินและปรับโครงสร้างระบบสังคมและเศรษฐกิจของเราใหม่ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งสู่ความยุติธรรมทางสังคม แทนการที่จะให้เราวนอยู่กับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่มีเสถียรภาพแบบเดิมๆ เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันแรงงานและองค์กรต่างๆ เพื่อให้การเจรจาทางสังคมมีประสิทธิภาพและมีพลัง เราต้องทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อโลกของการทำงาน เพื่อให้มีความเกี่ยวข้องสอดคล้องและเป็นปัจจุบัน และสามารถคุ้มครองแรงงานและสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืนได้

ในการที่จะทำให้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ เราจำเป็นต้องยืนยันเจตนารมณ์ในความร่วมมือระหว่างประเทศและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราต้องยกระดับความพยายามของเราและสร้างความสอดคล้องทางนโยบายให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในระบบพหุภาคี ดังที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวไว้

นี่คือเหตุผลที่เราต้องการแนวร่วมสากลเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Global Coalition for Social Justice) แนวร่วมนี้จะสร้างเวทีที่จะรวมองค์การระหว่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายเข้าด้วยกัน โดยกำหนดให้ความยุติธรรมทางสังคมเป็นหลักการสำคัญของการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ความยุติธรรมทางสังคมได้รับการจัดลำดับความสำคัญในนโยบายและการดำเนินการระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งอนาคตของเรา

เรามีโอกาสเปลี่ยนแปลงโลกที่เราอาศัยอยู่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ขอให้เราใช้โอกาสนี้และก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยืดหยุ่นที่สามารถสนับสนุนสันติภาพที่ยั่งยืนและความยุติธรรมทางสังคม