WESO Trends 2022

ไอแอลโอ ปรับลดประมาณการการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสำหรับปี 2565

รายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคม 2565 (World Employment and Social Outlook Trends 2022) ของไอแอลโอ เตือนการฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าและไม่แน่นอน เนื่องจากการระบาดใหญ่ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงานทั่วโลก

Press release | 17 January 2022
ข่าวไอแอลโอ (เจนีวา) – องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้ปรับลดประมาณการการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปี 2565 โดยคาดการณ์จำนวนชั่วโมงการทำงานทั่วโลกลดลงเทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 52 ล้านตำแหน่งซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ของปี 2562 ประมาณการก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน พฤษภาคม 2564 คาดการณ์การลดลงของงานเทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 26 ล้านตำแหน่ง

แม้ว่าตัวเลขประมาณการล่าสุดเป็นการปรับปรุงจากสถานการณ์ในปี 2564 แต่ประมาณการล่าสุดนี้ยังคงต่ำกว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานทั่วโลกช่วงก่อนการระบาดใหญ่เกือบร้อยละ 2 ตามรายงาน แนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคม 2565 (WESO Trends) ของไอแอลโอ

มีการคาดการว่าการว่างงานทั่วโลกจะยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 จนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย มีการประเมินว่าระดับการว่างในปี 2565 อยู่ที่ 207 ล้านคน เทียบกับ 186 ล้านคนในปี 2562 รายงายของ ไอแอลโอ ยังเตือนด้วยว่าผลกระทบโดยรวมต่อการจ้างงานมีมากกว่าตัวเลขที่แสดงไว้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากหลายคนได้ออกจากกำลังแรงงาน มีการคาดการว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานทั่วโลกในปี 2565 จะยังต่ำกว่าอัตราในปี 2562 ที่ 1.2 จุดร้อยละ

การปรับลดการประมาณการในปี 2565 ในระดับหนึ่งสะท้อนผลกระทบที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของโรคโควิด 19 อาทิ สายพันธุ์เดลต้าและสายพันธ์โอมิครอน มีต่อโลกของการทำงานรวมถึงความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับระยะเวลาการระบาดใหญ่ในอนาคต

รายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคม (WESO Trends) เตือนถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในแง่ผลกระทบที่วิกฤตการณ์มีต่อกลุ่มแรงงานและประเทศต่างๆ ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศมีมากขึ้นไปอีก และทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมของเกือบทุกประเทศอ่อนแอลง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพแห่งการพัฒนาใด ความเสียหายนี้อาจต้องใช้เวลานานนับปีในการซ่อมแซมซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน รายได้ครัวเรือนและความสมานฉันท์ทางสังคมและเป็นไปได้ ทางการเมือง

ผลกระทบต่างๆ เป็นที่รู้สึกได้ในตลาดแรงงานในทุกภูมิภาคทั่วโลก แม้จะสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างมากของรูปแบบการฟื้นตัว ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือกำลังมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีที่สุด ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกาและแคริบเบียนมีแนวโน้มเชิงลบมากที่สุด ในระดับประเทศ การฟื้นตัวของตลาดแรงงานแข็งแกร่งที่สุดในประเทศที่มีรายได้สูง ในขณะที่เศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำมีการฟื้นตัวของตลาดแรงงานน้อยที่สุด

รายงานระบุว่าผลกระทบของวิกฤตซึ่งมีผลต่อการจ้างงานแรงงานหญิงเป็นอย่างมาก คาดว่าจะคงอยู่ต่อไปอีกในปีต่อๆ ไป ในขณะที่การปิดสถาบันการศึกษาและการอบรม “จะมีผลกระทบระยะยาวต่อเนื่อง” สำหรับเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต

“สองปีที่เข้าสู่วิกฤตนี้ แนวโน้มยังคงเปราะบางและเส้นทางสู่การฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าและไม่แน่นอน” นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศกล่าว “เราเห็นความเสียหายที่อาจจะคงอยู่กับตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของความยากจนและความเหลื่อมล่ำแล้ว แรงงานหลายคนจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่เพื่อ - ยกตัวอย่างเช่น รับมือกับการตกต่ำยาวนานของการเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว”

“มันไม่สามารถมีการฟื้นตัวอย่างแท้จริงจากการระบาดใหญ่ โดยปราศจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในวงกว้าง และเพื่อความยั่งยืน การฟื้นตัวนี้จะต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักการต่างๆ ของงานที่มีคุณค่าซึ่งรวมถึง ความปลอดภัยและสุขภาพ ความเท่าเทียม การคุ้มครองทางสังคมและการเจรจาทางสังคม”

รายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคม (WESO Trends) รวมการประเมินตลาดแรงงานที่ครอบคลุมสำหรับปี 2565 และ 2566 รายงานให้การประเมินการฟื้นตัวของตลาดแรงงานว่าเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างไร สะท้อนแนวทางระดับประเทศที่ต่างกันต่อการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่และการวิเคราะห์ผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและภาคการผลิตต่างๆ

รายงาน ไอแอลโอ แสดงให้เห็นว่า เช่นเดียวกับวิกฤตครั้งก่อนๆ การจ้างงานชั่วคราวเป็นตัวกันชนจากแรงกระแทกของการระบาดใหญ่สำหรับบางคน แม้ว่างานชั่วคราวหลายตำแหน่งได้ถูกยกเลิกหรือไม่ได้รับการต่อสัญญาใหม่ แต่ก็เกิดทางเลือกอื่น รวมถึงสำหรับกลุ่มแรงงานที่ตกงานจากงานประจำด้วย โดยเฉลี่ย อุบัติการการทำงานชั่วคราวไม่ได้เปลี่ยนแปลง

รายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคม (WESO Trends) ยังเสนอบทสรุปที่เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญที่มุ่งไปที่การสร้างการฟื้นตัวจากวิกฤตทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างครอบคลุมและเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ข้อเสนอเหล่านี้อิงตาม หลักการดำเนินการเพื่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด 19 โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุม ยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกของ ไอแอลโอ 187 ประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564