การปรับปรุงเรือประมงของไทยเพื่อช่วยลดแรงงานบังคับ
รายงานใหม่ของ ILO เรื่องตลาดแรงงานประมงของประเทศไทยในปัจจุบัน และกรณีศึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาติดตั้งบนเรือประมงเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานและลดการใช้แรงงานบังคับในภาคการประมง

โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ซึ่งเป็นโครงการของ ILO ที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรป รายงานว่าประมาณร้อยละ 90 ของแรงงานจำนวน 60,000 คนที่ทำงานในเรือประมงพาณิชย์ของประเทศไทยเป็นแรงงานข้ามชาติมาจากประเทศเมียนมาหรือกัมพูชา แรงงานดังกล่าวจะต้องทำงานในสภาวะที่ยากลำบากและในการออกเรือแต่ละครั้งต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันอีกด้วย โดยในแต่ละลำจะมีลูกเรือประมาณ 20-30 คน หรือบางลำอาจจะมีมากถึง 40 คนต่อลำ จากข้อมูลในปีพ.ศ. 2561 รายได้โดยเฉลี่ยของแรงงานประมงเหล่านี้น้อยกว่า 12,000 บาทต่อเดือน (หรือประมาณ 400 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งในระดับค่าแรงที่ต่ำขนาดนี้และภายใต้สภาพการทำงานที่ต้องทำงานหนักเป็นเวลานาน อุตสาหกรรมประมงของไทยและเจ้าของเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่กว่า 5,500 ลำขึ้นไปจึงต้องดิ้นรนที่จะสรรหาแรงงานให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมประมง อีกทั้งทรัพยากรประมงที่ลดน้อยลงจากการจับปลาที่มากเกินไป ทำให้เจ้าของเรือบางคนหันไปบีบกับลูกเรือซึ่งนำไปสู่การใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงของไทย
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวจะนำเสนอกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการลงทุนเป็นเงินจำนวน 1.75 ล้านบาท (ประมาณ 56,700 เหรียญสหรัฐฯ) เพื่อติดตั้งระบบ “power block” ซึ่งเป็นระบบไฮดรอลิกที่ใช้ดึงอวนขึ้นเรือ จะทำให้สามารถลดจำนวนลูกเรือลงได้เกือบร้อยละ 40 และเนื่องจากจำนวนลูกเรือที่ลดน้อยลงจึงทำให้สภาพการทำงานดีขึ้น มีพื้นที่พักผ่อนบนเรือมากขึ้น และลูกเรือก็มีโอกาสมีรายได้มากขึ้นด้วย ในภาคการประมงของไทยในปัจจุบันมีงานมากกว่าจำนวนแรงงานประมง ดังนั้นการลดจำนวนแรงงานลงด้วยการติดตั้งอุปกรณ์บนเรือเพื่อปรับปรุงการทำงานจะส่งผลให้แรงงานประมงหลายพันคนตกงาน แต่พวกเขาจะสามารถย้ายเข้ามาทำงานบนเรือลำอื่น หรือเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆของไทยที่ยังมีความต้องการด้านแรงงานอยู่ ทั้งนี้ มีการปรับปรุงระบบทำความเย็นของตู้เก็บปลาบนเรืออีกด้วย ซึ่งระบบทำความเย็นใหม่นี้ทำให้ปลาที่จับได้มีราคาสูงขึ้น ทำให้เจ้าของมีรายได้มากขึ้น และสามารถปรับเพิ่มค่าจ้างและปรับสภาพการทำงานของแรงงานประมงได้ด้วย
โครงการปรับปรุงเรือดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) และจากการคำนวนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์บนเรือตัวอย่างขนาดน้ำหนัก 91 ตันกรอส (gross tonnage) จากจังหวัดปัตตานี ทำให้คำนวนได้ว่าค่าใช้จ่ายได้ลดน้อยลงร้อยละ 8 ในปีที่สองหลังจากการปรับปรุงเรือ แต่มีผลกำไรสูงขึ้นถึงรอยละ 59 ดังนั้นหากลงทุนด้วยจำนวนเงินประมาณ 2 ล้านบาท (ประมาณ 66,700 เหรียญสหรัฐฯ) ก็จะสามารถทำเงินคืนได้ในเวลาน้อยกว่า 18 เดือน
นอกจากนี้ การปรับปรุงเรื่อจะส่งผลดีในส่วนอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น พื้นที่ทำงานและพักผ่อนของแรงงานบนเรือประมงจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากจำนวนคนบนเรือลดน้อยลง ในกรณีเรือตัวอย่างนี้ การลาออกหรือหนีงานก็ลดลงจากร้อยละ 30 ต่อปีจนเกือบเป็นศูนย์เพราะการทำงานบนเรือง่ายขึ้น โดยการลากอวนขึ้นบนเรือจะทำโดยระบบไฟฟ้า ซึ่งหมายความว่าเจ้าของเรือก็ไม่ต้องเสียเวลาในการสรรหาและฝึกแรงงานก่อนมาทำงานบนเรืออีกด้วย

นายแกรห์ม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า “ธุรกิจในอุตสาหกรรมประมงไทยยังถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้การให้กู้ยืมเงินแก่ธุรกิจในอุตสาหกรรมประมงยังคงน้อย ทั้งนี้ ความวุ่นวายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งเกิดจากการจับปลาที่ผิดกฎหมายและการใช้แรงงานบังคับเกือบทำให้สูญเสียกำลังซื่อจากตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา จึงทำให้เจ้าของเรือและธนาคารยังคงคาดการณ์อนาคตของอุตสาหกรรมฯได้ยาก”
“ดังนั้น หากมีโครงการหรือสถาบันการเงินช่วยค้ำประกันเงินกู้เพื่อสนับสนุนการให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงเรือประมงก็จะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารไทยได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นโครงการรับประกันสินเชื่อที่สนับสนุนการให้กู้ยืม 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะสามารถช่วยปรับปรุงเรือได้จำนวน 80 - 100 ลำ (จากจำนวนเรือขนาดใหญ่ของประเทศไทยจำนวน 900 ลำ) ในระยะเวลาแค่ 2 ปี” นายบัคลีย์กล่าวเสริมโดยย้ำว่าโครงการให้กู้ยืมจะต้องรวมมาตรการตรวจสอบที่มีความเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบผู้กู้ว่าปฏิบัติตามกฎหมายไทยและมาตรฐานแรงงานหลักของ ILO หรือไม่ “การตรวจสอบมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเรือบางลำและท่าเรือบางแห่งยังคงมีปัญหาเรื่องการจ่ายค่าจ้างแรงงานที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เจ้าของเรือดังกล่าวก็จะไม่สามารถร่วมโครงการกู้ยืมนี้ได้” นายบัคลีย์เน้นย้ำ
รายงานของ ILO เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและเทคโนโลยีส่งผลกระทบอย่างไรต่อตลาดแรงงานไทยสำหรับงานประมง” จะมีข้อเสนอแนะและข้อแนะนำว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อสนับสนุนเจ้าของเรือให้สามารถทำการปรับปรุงเรือประมงได้และนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่อุตสาหกรรมประมง
เกี่ยวกับโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง
โครงการสิทธิเรือสู่ฝั่งของไอแอลโอ โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดแรงงานบังคับ แรงงานเด็กและแรงงานรูปแบบอื่นที่ไม่เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งลดการละเมิดแรงงานโดยเฉพาะต่อแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยโดยร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน หน่วยงานราชการ และภาคีอื่นๆ ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์และรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.shiptoshorerights.orgสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: นายวสุ ธีระศักดิ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการฯ เบอร์โทร +66 (0) 98 592 9565 หรืออีเมล thirasak@iloguest.org .