อัตราการว่างงานของเยาวชนเพิ่มขึ้นสูงสุด – รายงาน ILO เผย เยาวชนกว่า 36 ล้านคนว่างงาน และอาจกลายเป็น “กลุ่มรุ่นตกหล่น”

กรุงเทพฯ (ข่าว ILO) – อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2553 รายงานฉบับล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผย

Press release | BANGKOK | 12 August 2010

กรุงเทพฯ (ข่าว ILO) – อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2553 รายงานฉบับล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO)1 เผย

การว่างงานของเยาวชนทั่วโลกสูงถึงร้อยละ 13 เมื่อปลายปีพ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นยาวชน 81 ล้านคน ทั้งนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น 7.8 ล้านคน จากปี พ.ศ. 2550 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก

เยาวชนกว่า 36.4 ล้านคน อายุระหว่าง 15-24 ปี อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ซึ่งมีเยาวชน 350 ล้านคน หรือร้อยละ 56 ของกำลังแรงงานเยาวชนโลก (620 ล้านคน) หากแยกตามภูมิภาคเมื่อปลายปีพ.ศ. 2552 มีเยาวชนว่างงาน 12.8 ล้านคนในเอเชียตะวันออก2 8.3 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค3 และ 15.3 ล้านคนในเอเชียใต้ 4

ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงต่ำสุด (ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2552) ยอดเยาวชนว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้า 5 ปี นับแต่ปีพ.ศ. 2545 การว่างงานของเยาวชนมีแนวโน้มลดลงโดยตลอด

เป็นที่คาดกันว่า อัตราการว่างงานของเยาวชนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับร้อยละ 13.1 ณ สิ้นปี พ.ศ. 2553 และจะลดลงเหลือร้อยละ 12.7 ในปีพ.ศ. 2554 โดยในเอเชียและแปซิฟิค อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงสุดถึงร้อยละ 14.8 ในปีพ.ศ. 2553 และลดลงเหลือร้อยละ 14.6 ในปีพ.ศ. 2554 ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงสุดในปีพ.ศ. 2552 โดยคาดว่าในปีพ.ศ. 2553 จะมีอัตราร้อยละ 10.3 และ 8.4 และในปี พ.ศ. 2554 จะลดลงเหลือร้อยละ 9.8 และ 8.1 ตามลำดับ ทว่าในเอเชียใต้รายงานเผยว่าแนวโน้มประชากรจะทำให้ตลาดแรงงานมีแรงกดดันเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยจะมีเยาวชนโดยเฉลี่ย 1 ล้านคนออกสู่ตลาดแรงงานในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2558

รายงาน “แนวโน้มการจ้างงานเยาวชน เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553” ฉบับพิเศษว่าด้วยผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อเยาวชน ได้เปิดตัวขึ้นในปีเยาวชนสากลโลกของสหประชาชาติ

รายงานเตือนว่า “ความเสี่ยงที่จะเกิด ‘กลุ่มรุ่นตกหล่น’ ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวที่ไร้ความหวังที่จะได้งานทำที่มีรายได้พอควร และถูกให้ต้องออกจากตลาดแรงงานอย่างสิ้นเชิง”

เยาวชน “กลุ่มรุ่นตกหล่น” จะเป็นกลุ่มที่ยากจนในประเทศกำลังพัฒนา “หากคนหนุ่มสาวยังคงอยู่ในความยากจน หรือกลายเป็นคนยากจนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ความหวังที่จะให้การพัฒนาโดยมีเยาวชนเป็นหลักในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ก็จะชะงักลง” รายงานกล่าว

ในหลายภาคของเอเชียแปซิฟิคและทั่วโลก เยาวชนผู้หญิงมีปัญหาในการหางานมากกว่าผู้ชาย ในปีพ.ศ. 2552 การว่างงานของเยาวชนหญิงในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค มีอัตราร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับชายที่ร้อยละ 14 ในเอเชียใต้ หญิงสาวร้อยละ 10.9 และชายหนุ่มร้อยละ 10.1 ต้องว่างงาน ในขณะที่ทั่วโลก มีหญิงสาวร้อยละ 13.2 และชายหนุ่มร้อยละ 12.9 ที่ว่างงาน ทว่ามีเพียงสองแห่งที่หญิงสาวได้เปรียบกว่าคือในเอเชียตะวันออก (ร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับชายหนุ่มร้อยละ 10.3) และประชาคมยุโรป

รายงานยังระบุว่าการว่างงานของเยาวชนเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในภาวะวิกฤต มากกว่าการว่างงานของผู้ใหญ่ และการฟื้นตัวของตลาดแรงงานของชายหนุ่มและหญิงสาวจะช้ากว่าของผู้ใหญ่ ทั่วโลกคนหนุ่มสาวมีโอกาสว่างงานเป็น 3 เท่าของผู้ใหญ่ ซึ่งในปีพ.ศ. 2552 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิคมีอัตราส่วนการว่างงานถึงร้อยละ 4.6 ซึ่งสูงที่สุดในโลก ในเอเชียใต้อัตราการว่างงานจะสูงกว่า 3 เท่า และเอเชียตะวันออก 2.6 เท่า

รายงานเตือนว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา ตัวเลขการว่างงานของเยาวชนไม่แสดงให้เห็นสถานการณ์ที่แท้จริงของพวกเขา ทั้งนี้ พวกเขาไม่สามารถพึ่งพาครอบครัวหรือรัฐบาลที่จะช่วยในการหางาน และพวกเขาต้องยอมทำงานที่มีเพื่อความอยู่รอด มีตัวอย่างหนึ่งคือในประเทศกัมพูชา มีสาวโรงงานเสื้อผ้าหลายคนว่างงานและต้องกลับบ้านเพื่อทำงานการเกษตร

คนหนุ่มสาวจำนวนมากขาดดุลในการมีงานทำที่มีคุณค่า ดังเช่น คนทำงานที่อยู่ในความยากจน หรือสถานภาพการทำงานที่ไม่ดี รายงานประมาณว่าในปีพ.ศ. 2551 คนหนุ่มสาว 152 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของคนทำงานหนุ่มสาว ยังคงตกอยู่ในสภาวะยากจน (มีรายได้ต่ำกว่า US$ 1.25 หรือ 41 บาท ต่อคนต่อวัน) แม้ว่าจะมีงานทำ ในประเทศภูฏาน อัตราเปรียบเทียบร้อยละของคนทำงานหนุ่มสาวที่อยู่ในความยากจน มีจำนวนมากกว่าผู้ใหญ่ทำงานถึงร้อยละ 10 จุด และในประเทศเวียดนามมากกว่าร้อยละ 5 จุด

“คนหนุ่มสาวเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หากเขาไม่มีโอกาสใช้ความสามารถของพวกเขา สังคมก็จะสูญเสียผลประโยชน์” นางซาชิโกะ ยามาโมโตะ ผู้อำนวยการภูมิภาค สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคกล่าว “การช่วยเหลือหนุ่มสาวที่หมดหวังในการมีงานดีมีคุณค่าทำ – ซึ่งหมายถึงงานที่มีรายได้พอเลี้ยงตัวได้ มีสภาพการทำงานที่ดี และมีโอกาสพัฒนา - อาจดูว่าต้องสิ้นเปลืองมาก แต่ทว่าการ

ไม่ทำอะไรเลย จะเป็นการสูญเสียที่สูงกว่า เพราะการลงทุนในการศึกษาจะสูญเปล่า รายได้จากภาษีในอนาคตขาดหาย และสังคมจะถูกกดดันในการให้ประกันสังคมและการบริการเยียวยาแก้ไข ดังนั้น ความมุ่งมั่นในการให้ความ

ช่วยเหลือการจ้างงานระดับชาติแก่คนหนุ่มสาว จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ”

“ข้อตกลงว่าด้วยงานของโลก ซึ่งประเทศสมาชิกของ ILO รับอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อปีพ.ศ. 2552 ซึ่งมีมาตรการต่างๆในการพยุงการจ้างงานเยาวชน รวมถึงการจูงใจในการสร้างงาน การพัฒนาฝีมือ รายได้เสริม งานสาธารณะ และการฝึกอบรมผู้ประกอบการอิสระหนุ่มสาว หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิคเริ่มใช้มาตรการเหล่านี้แล้วในการตอบสนองภาวะวิกฤต” นางซาชิโกะกล่าว

สามารถอ่านรายงานได้

_____________________________________________________

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

กฤษฎาพร สิงหเสนี

สารนิเทศ

สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค

โทร. 02 288 1664 อีเมล์