การประชุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจบลงด้วยข้อเสนอแนะให้เน้นการจ้างงาน เพื่อตอบสนองวิกฤติทางเศรษฐกิจ

เกียวโต (ข่าว ILO) ผู้แทนภาครัฐ ลูกจ้างและนายจ้าง จากประเทศในเอเซียแปซิฟิก และรัฐอารับ ที่ร่วมประชุมกัน 4 วัน ได้สิ้นสุดลงหลังจากถกกันว่าจะหาทางเตรียมรับมือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในขณะนี้ได้อย่างไร

Press release | 07 December 2011

เกียวโต (ข่าว ILO) ผู้แทนภาครัฐ ลูกจ้างและนายจ้าง จากประเทศในเอเซียแปซิฟิก และรัฐอารับ ที่ร่วมประชุมกัน 4 วัน ได้สิ้นสุดลงหลังจากถกกันว่าจะหาทางเตรียมรับมือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในขณะนี้ได้อย่างไร

ในการประชุมภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิกครั้งที่ 15 (15th Asia and the Pacific Regional Meeting) ผู้ร่วมประชุมต่างเห็นพร้อมกันว่าการจ้างงานและการสนันสนุนให้คนมีงานที่ดีมีคุณค่าทำ เป็นปัจจัยสำคัญของนโยบายการพัฒนาที่เข้มแข็ง ยั่งยืนและสมดุล

การประชุมเรียกร้องให้ใช้นโยบายข้อตกลงเรื่องงานของโลก (Global Jobs Pact) ที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เป็นธรรม และมีการสร้างงานจำนวนมาก โดยองค์ประกอบไตรภาคีของ ILO (ภาครัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง) จะต้องร่วมมือกันด้วยการเจรจาทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการเจรจาต่อรอง การเพิ่มประสิทธิภาพในผลิตผล จะเป็นรากฐานที่จะช่วยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ค่าจ้างสูงขึ้น และมีโอกาสการจ้างงานที่ดีมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมพื่อเผชิญสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายลง ชึ่งรวมถึงการสนับสนุนการประกอบการที่ยั่งยืน การลงทุนที่ใช้การจ้างงานจำนวนมาก การพพัฒนาระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การสร้างพื้นฐานการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection Floor) ที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการเจริญเติบโตสีเขียว และงานสีเขียว ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวกับการจ้างงานเยาวชนและแรงงานข้ามชาติ

การประชุมยังได้หามาตรการจ้างงาน และนโยบายทางสังคมที่จะนำมาใช้ต่อผลกระทบจากภัยพิบัติ ซึ่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกมักจะเผชิญปัญหานี้ ผู้ร่วมประชุมแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่จัดการประชุมพิเศษในหัวข้อนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความรู้ และบทเรียนการตอบสนองต่อภัยพิบัติ ตลอดจนนโยบายการจ้างงาน

การประชุมยังได้ใช้เป็นเวทีเปิดตัวในเอเชีย รายงานบาชเล็ต (Bachelet Report) เรื่องพื้นฐานการคุ้มครองทางสังคม เพื่อโลกาภิวัติที่เป็นธรรมและไร้การกีดกัน (Social Protection for a Fair and Inclusive Globalization) ซึ่งถูกนำเสนอโดยนางสุชา พิลัย (Ms Sucha Pilai) สมาชิกของกลุ่มคณะที่ปรึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการวางแผนของประเทศอินเดีย การสร้างพื้นฐานทางสังคมที่มีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับสภาวะของแต่ละประเทศ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสิ่งหนึ่ง ผลการประชุมสรุป

“ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และเจริญเติบโตได้มาก แต่ทว่ายังขาดงานงานที่ดีมีคุณค่าเป็นจำนวนมาก” นางซาชิโกะ ยามาโมโตะ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก ILO กล่าว “ประเทศส่วนใหญ่ที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ มีการเจริญเติบโตทางประชากรสูง แต่การเจริญเติบโตในการจ้างงานมีเพียงร้อยละ 1-2 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เติบโตขึ้นร้อยละ 6-7 ของการเติบโตของผลผลิต หากการเจริญเติบโตทางผลผลิตนี้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 6 ภูมิภาคนี้ก็จะไม่มีงานเพียงพอต่อผู้ที่กำลังหางานทำ โดยเฉพาะเยาวชน”

“ก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตนี้ก็ไม่เท่าเทียมกัน และความไม่เท่าเทียมก็เพิ่มมากขึ้น จนอาจคุกความความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม หากไม่ได้รับการแก้ไข” นางยามาโมโตะกล่าว

หุ้นส่วนไตรภาคีมองเห็นความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอาหรับบางประเทศ กับผลของการกีดกันทางสังคม (Social Exclusion) การขาดงานที่ดีมีคุณค่า และการถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของวาระการสร้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work Agenda) ในการตอบสนองการเรียกร้องอย่างแพร่หลายเพื่อความยุติธรรมทางสังคม ศักดิศรี งานที่มีคุณค่า ความเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน และการยุติการกีดกันทางเศรษฐกิจ พวกเขาเห็นพร้อมกันที่จะเร่งความพยายามในการให้สัตยาบันมาตรฐานแรงงานหลัก และนำมาปฏิบัติ

“ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก การสร้างงานที่มีคุณค่าและการมีการจ้างงานอย่างเต็มที่ เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน” นางมาดา อัลมาชีฟ ผู้อำนวยการภูมิภาครัฐอาหรับกล่าว “ภูมิภาคนี้ต้องการการเจริญเติบโตที่สามารถให้งานที่ดีกว่า และจำนวนมากขึ้น เพื่อให้คนที่อยู่ในสภาวะเปราะบางได้รับความคุ้มครอง ในขณะที่พวกเขาจะทำงานให้หลุดพ้นจากความยกจน และการเป็นแรงงานอยู่นอกระบบ การเจรจาทางสังคม ความร่วมมือที่ดีต่อกัน ด้วยการที่คนงาน นายจ้าง และภาครัฐทำงานร่วมกัน จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนี้ และทำให้เยาวชนของวันนี้ได้สมหวัง ตลอดจนเยาวชนในอนาคต

ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 410 คน ซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ ลูกจ้างและนายจ้างจาก 38 ประเทศ มาร่วมในการประชุมเอเซียและแปซิฟิกนี้ โดยมี พณ นายโยชิฮิโกะ โนดะ (H.E. Yoshihiko Noda) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายฮวน โซมาเวีย (Mr Juan Somavia) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เป็นผู้เปิดงาน ผู้ร่วมปาฐกถาท่านอื่นประกอบด้วย พณ ดร. โฮเซ่ หลุย กุแทรย์ (H.E. Dr Jose Luis Guterres) รองนายกรัฐมนตรีติมอร์เลสเต้ ดร. อาหมัด ลุคมัน (Dr Ahmed Luqman) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหรับ และ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการใหญ่ ASEAN

ILO เป็นองค์กรชำนาญพิเศษของของค์การสหประชาชาติที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการจ้างงานและปัญหาที่เกี่ยวกับงาน ILO มีลักษณะพิเศษคือ มีสมาชิกไตรภาคีอันประกอบด้วยสามฝ่ายคือ ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม เพื่อร่วมกันตัดสินใจแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

กฤษฎาพร สิงหเสนี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวสาร
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
Email
krisdaporn@ilo.org
โทร. 02288 1664