APESO 2022

การจ้างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีการฟื้นตัวเล็กน้อย ขณะที่แนวโน้มการเติบโตในอนาคตพบว่ายังมีความท้าทาย

ตลาดแรงงานในภูมิภาคนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ช่วงก่อนวิกฤต ขณะที่มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนงานที่มีคุณค่าในภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก

Press release | Bangkok, Thailand | 28 November 2022
กรุงเทพ (ข่าว ไอแอลโอ) – ตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีการฟื้นตัวบางส่วนจากผลกระทบของโควิด 19 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ คาดว่ายังคงเป็นอุปสรรคต่อไปในปี 2566

รายงาน แนวโน้มการจ้างงานและประเด็นทางสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคปี 2565: ทบทวนยุทธศาสตร์รายภาคอุตสาหกรรมต่ออนาคตของการทำงานที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง (Asia–Pacific Employment and Social Outlook 2022: Rethinking sectoral strategies for a human-centred future of work by 2022) พบว่าตัวเลขการจ้างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในปี 2565 สูงกว่าตัวเลขการจ้างงานก่อนเกิดวิกฤตโควิดปี 2562 ที่อัตราร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากการสูญเสียตำแหน่งงานกว่า 57 ล้านตำแหน่งที่เกิดขึ้นในปี 2563

ถึงกระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวก็ยังไม่สมบูรณ์ ภูมิภาคนี้ยังคงขาดตำแหน่งงานจำนวน 22 ล้านตำแหน่งในปี 2565 เมื่อเทียบกับสถานการณ์หากไม่เกิดการระบาดใหญ่ โดยช่องว่างของงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และจำนวนตำแหน่งงานที่ขาดแคลนนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านตำแหน่งงาน (ร้อยละ 1.4) ในปี 2566 เนื่องจากแรงต้านจากบริบทภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกและระดับภูมิภาคในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ชั่วโมงการทำงานทั้งหมดในภูมิภาคนี้ยังคงต่ำกว่าตัวเลขในปี 2562 ขณะที่อัตราการว่างงานในภูมิภาคในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 เพิ่มขึ้น จุดร้อยละ 0.5 จากปี 2562

ภายในปี 2565 ทุกภูมิภาครองมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากการจ้างงานที่หายไปในปี 2563 และมีการเติบโตของการจ้างงานในเชิงบวกจากปี 2562 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการจ้างงานไม่สอดคล้องกับการเติบโตของจำนวนประชากร เฉพาะแปซิฟิคเท่านั้นที่อัตราส่วนการจ้างงานต่อจำนวนประชากรในปี 2565 สูงกว่าปี 2562

“แม้ว่าแนวโน้มการจ้างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะมีทิศทางเป็นบวก แต่ตลาดแรงงานของภูมิภาคนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดวิกฤต พร้อมกับมีความท้าทายเพิ่มเติมจำนวนมากที่บดบังแนวโน้มการเติบโตในอนาคต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องนำการเติบโตที่ครอบคลุมและเน้นคนเป็นศูนย์กลางกลับคืนสู่ภูมิภาคนี้ และไม่หยุดอยู่ที่การฟื้นตัว 'ในลักษณะครึ่งๆ กลางๆ' ที่เกิดจากการจ้างงานนอกระบบและงานที่มีคุณภาพต่ำ” ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการองค์การงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าว

รายงานฉบับนี้ได้ทำการประเมินรายภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคในช่วงสามทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2534-2564 เป็นครั้งแรก เพื่อแสดงว่าภาคส่วนใดกำลังเติบโตในฐานะแหล่งการจ้างงาน ภาคส่วนใดกำลังหดตัวและภาคส่วนใดมีโอกาสสำหรับ "งานที่มีคุณค่า"

รายงานได้เผยให้เห็นว่า ในขณะที่ภาคบริการเทคโนโลยีและสารสนเทศเป็นภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคในแง่การเติบโตของการจ้างงาน แต่ในปี 2564 มีแรงงานที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมนี้เพียง 9.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของการจ้างงานทั้งหมด

ในทางตรงกันข้าม ภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกในแง่ของการจ้างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค อันได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และการประมง ภาคการผลิต และภาคการค้าส่ง ค้าปลีก รวมกันมีจำนวนแรงงานคิดเป็น 1.1 พันล้านคนในปี 2564 หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของกำลังแรงงานจำนวน 1.9 พันล้านคนในภูมิภาคนี้

ภาคอุตสาหกรรมที่มีแรงงานกระจุกตัวนี้มักจะมีลักษณะเฉพาะคือ ผลผลิตแรงงานจำกัด ค่าจ้างต่ำ สภาพการทำงานย่ำแย่ และความมั่นคงของงานและรายได้ต่ำ แรงงานส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ขาดการคุ้มครองทางสังคม ในขณะที่มีการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการในระดับสูง โดยความคืบหน้าใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้ถูกลบล้างไปแล้ว ด้วยการระบาดใหญ่ของโควิด 19

ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงเกิดขึ้นแพร่หลายในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยหนึ่งในสิบภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตในด้านการจ้างงานสูงที่สุดได้ให้ประโยชน์กับแรงงานชายมากกว่าแรงงานหญิง มีเพียงกิจการที่พักและบริการอาหารเท่านั้นที่ต่างไปจากแนวโน้มนี้ กล่าวคือ ร้อยละ 55 ของตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2534 ถึง 2564 เป็นแรงงานหญิง

“แม้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงครึ่งศตวรรษ แต่ความจริงก็คือ แรงงานส่วนใหญ่ในเอเชียและแปซิฟิคทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ ‘ความมหศจรรย์แห่งเอเชีย’ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่อื่นๆ อาจได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ภาคส่วนที่มีศักยภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนการเติบโตและงานที่มีคุณค่าในภูมิภาคนี้กลับอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ความท้าทายในอนาคตข้างหน้าคือการเพิ่มและการคงความสนใจในนโยบายและการลงทุนภาครัฐให้บรรลุงานที่มีคุณค่าให้ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่” ซ่ารา เอลเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าว