การฟื้นตัวในการจ้างงานที่ล่าช้าและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงให้เกิดผลกระทบระยะยาวจากโควิด 19

ประมาณการของ ไอแอลโอ แสดงถึงผลจากวิกฤตโควิด 19 ที่มีต่อตลาดแรงงาน ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นทั้งเชิงประชากรและภูมิศาสตร์ การเพิ่มสูงขึ้นของความยากจนและการลดลงของงานที่มีคุณค่า

News | Bangkok, Thailand | 02 June 2021
เจนีวา (ข่าวไอแอลโอ) – วิกฤตตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ยังไม่ยุติและการเติบโตของการจ้างงานจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย ประมาณการจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) 

รายงานการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคม : แนวโน้ม ปี 2564 (WESO Trends) ของไอแอลโอ ประเมิน “การว่างงาน” เนื่องจากวิกฤตโลกจะสูงถึง 75 ล้านตำแหน่ง ในปี 2564 ก่อนจะลดลงสู่ 23 ล้านตำแหน่งในปี 2565 ช่องว่างที่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานซึ่งรวมถึงการว่างงานและชั่วโมงการทำงานที่ลดลง มีจำนวนเทียบเท่ากับการจ้างงานเต็มเวลา 100 ล้านตำแหน่งในปี 2564 และ 26 ล้านตำแหน่งในปี 2565 การลดลงของการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานนี้ เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤตที่ระดับการว่างงานสูงต่อเนื่อง การใช้แรงงานไม่เต็มศักยภาพและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่

ดังนั้น มีการคาดการณ์ว่าจะมีคนว่างงานทั่วโลก 205 ล้านคนในปี 2565 สูงกว่าปี 2562 ที่มีคนว่างงานจำนวน 187 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานร้อยละ 5.7 และหากไม่พิจารณารวมช่วงวิกฤตโควิด 19 การว่างงานในอัตราดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2556

ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบที่มากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2564 ได้แก่ ละตินอเมริกาและแคริเบียน ยุโรปและเอเชียกลาง โดยภูมิภาคดังกล่าว การสูญเสียชั่วโมงการทำงานโดยประมาณ สูงกว่าร้อยละ 8 ในช่วงไตรมาสแรก และร้อยละ 6 ในช่วงไตรมาสที่สอง เมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียชั่วโมงการทำงานระดับโลกในอัตราร้อยละ 4.8 และ 4.4 ในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่สองตามลำดับ

การฟื้นตัวของการจ้างงานทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดใหญ่โดยรวมจะไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการจ้างงานในแต่ละประเทศอาจไม่เท่ากัน เนื่องจากความไม่เท่าเทียมในการการเข้าถึงวัคซีน และศักยภาพที่จำกัดของประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในการใช้มาตราการกระตุ้นทางการคลังที่เข้มแข็ง นอกจากนี้คุณภาพของงานที่สร้างขึ้นใหม่มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงในประเทศเหล่านั้น

การลดลงของการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานส่งผลต่อรายได้ของแรงงานที่ลดลงเป็นอย่างมากและต่อปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น 108 ล้านคนทั่วโลกที่ปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนยากจน หรือกลุ่มคนยากจนสุดขีด (หมายความว่าแรงงานและสมาชิกในครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า 3.20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคน ต่อวัน) “ห้าปีของความก้าวหน้าในการขจัดภาวะ ‘ทำงานแต่ยังยากจน’ ได้ถูกลบล้างไปหมดแล้ว” รายงานระบุเพิ่มว่าสิ่งนี้ทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั้งยืนแห่งสหประชาชาติ เพื่อขจัดความยากจน ภายในปี 2573 อาจเป็นเรื่องที่เลือนลางยิ่งขึ้น

รายงานพบว่า วิกฤตโควิด 19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ก่อนวิกฤตแย่ลงไปอีก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นกับกลุ่มแรงงานที่มีความเปราะบาง การขาดการคุ้มครองทางสังคมในวงกว้าง เช่น ในกลุ่มแรงงานนอกระบบจำนวน 2 พันล้านคนทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าภาวะชะงักงันของงานที่เกิดจากการระบาดใหญ่กลายเป็นหายนะที่ร้ายแรงต่อรายได้ของครอบครัวและการดำรงชีวิต

วิกฤตดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างมาก พบว่าการจ้างงานของผู้หญิงลดลงร้อยละ 5 ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานชายที่การจ้างงานลดลงร้อยละ 3.9 ผู้หญิงที่หลุดจากตลาดแรงงานและกลายเป็นผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงานมีสัดส่วนที่สูงกว่านี้อีกด้วย ภาระหน้าที่ในงานบ้านที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากการปิดเมืองในช่วงวิกฤตยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการ “ฟื้นคืนความคิดดั้งเดิม” เกี่ยวกับบทบาททางเพศขึ้นมาอีกครั้ง

ทั่วโลกพบว่า การจ้างงานเยาวชนลดลงร้อยละ 8.7 ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานผู้ใหญ่ที่การจ้างงานลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งกรณีดังกล่าวพบมากที่สุดในประเทศรายได้ปานกลาง ผลที่ตามมาอันเนื่องจากความล่าช้าและความชะงักงันที่มีต่อประสบการณ์ด้านตลาดแรงงานของเยาวชน อาจคงอยู่ยาวนานหลายปี

รายละเอียดเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ที่มีต่อแนวโน้มตลาดแรงงานของเยาวชนคนหนุ่มสาวปรากฎในรายงานสรุปของ ไอแอลโอ ที่เผยแพร่ควบคู่ไปกับรายงานการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคมฉบับนี้ ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบตลาดแรงงานเยาวชนในช่วงวิกฤตโควิด 19 ยังพบว่าช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานเยาวชนมีความชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย

“การฟื้นตัวจาก โควิด 19 ไม่ใช่แค่ประเด็นด้านสุขภาพเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย หากปราศจากความพยายามอย่างแน่วแน่ที่จะเร่งสร้างงานที่มีคุณค่าและให้การสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกของสังคมที่มีความเปราะบางมากที่สุด รวมถึงการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ผลกระทบของการระบาดใหญ่อาจยังอยู่กับเราต่อไปอีกหลายปี ส่งผลให้เกิดการสูญเสียศักยภาพของมนุษย์และเศรษฐกิจ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น” นาย กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว “เราต้องการยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องและครอบคลุมรอบด้าน โดยมุ่งเน้นนโยบายที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางและสนับสนุนโดยการลงมือทำและงบประมาณ คงไม่มีการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงหากปราศจากการฟื้นตัวของงานที่มีคุณค่า”

นอกจากการการรายงานเรื่องการสูญเสียชั่วโมงการทำงานและการจ้างงานและการเติบโตของการจ้างงานที่ขาดหายไป รายงานการจ้างงานทั่วโลกและประเด็นสังคม : แนวโน้ม ปี 2564 ยังได้สรุปยุทธศาสตร์การฟื้นตัวจากโควิด 19 โดยพิจารณาจากหลักการที่สำคัญ 4 ประการ กล่าวคือ การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและการสร้างการจ้างงานมุ่งเน้นผลิตภาพ; การสนับสนุนช่วยเหลือรายได้ครัวเรือนและการเปลี่ยนผ่านของตลาดแรงงาน; การเสริมสร้างรากฐานเชิงสถาบันที่เข้มแข็งที่จำเป็นต่อการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืนและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี และการนำการเจรจาทางสังคมมาใช้เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การฟื้นตัวที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง