ความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย

สหภาพยุโรป องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และ โออีซีดี จับมือสร้างพันธมิตรส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทาน

ในระหว่างการกล่าวแนะนำโครงการใหม่ซึ่งส่งเสริมความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และท่านเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เน้นความสำคัญของการใช้แนวทางดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย

News | 28 February 2019
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (กลาง); ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (ขวาถัดมา); คุณ โทโมโกะ นิชิโมโตะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศและผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค (ซ้ายถัดมา)
กรุงเทพฯ (ข่าว ไอแอลโอ) - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐภาค เอกชนและทุกภาคส่วน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายในการใช้แนวทางดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “งานที่มีคุณค่าเพื่อธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” โดยกล่าวถึงงานในวันนี้ว่า “การประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานด้านวิชาการทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานแบบหุ้นส่วนหรือ partnership จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนางานที่มีคุณค่า”

งานการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวันนี้จัดขึ้นภายใต้ โครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป (EU) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดี (OECD) โดยงานนี้ได้ก่อให้เกิดการพูดคุยร่วมกันระหว่างตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรลูกจ้างและองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศถึงประเด็นแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจในมิติด้านแรงงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนวิธีการในทางปฏิบัติที่ทำได้จริงในการบริหารงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทาน

ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวถึงโครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย ว่า เป็นโครงการที่สหภาพยุโรป องค์การแรงงานระหว่างประเทศและโออีซีดีร่วมกันเป็นพันธมิตรในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนและผู้ประกอบการเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและสร้างนโยบายที่สนับสนุนให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การที่ภาคธุรกิจมีห่วงโซ่อุปทานที่มีความรับผิดชอบและโปร่งใสจะส่งผลให้สังคมมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมิติด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของการประกอบธุรกิจผสานกันอย่างกลมกลืน ทั้งนี้ทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันในงานวันนี้ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ แรงงาน นายจ้าง และองค์กรภาคประชาสังคม มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย

โครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียเป็นโครงการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและดำเนินการร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศและโออีซีดี โดย คุณ โทโมโกะ นิชิโมโตะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศและผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่าโลกต้องการงานที่ดีมีคุณภาพ โดยห่วงโซ่อุปทานโลกสามารถเป็นกลไกของการพัฒนาเชิงบวกที่จะสร้างงานเหล่านี้ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ชุมชน รวมถึงประเทศชาติ แต่การจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้นั้น แรงงานต้องทำงานบนพื้นฐานที่ได้รับความเป็นธรรมภายใต้ความรับผิดชอบและความยั่งยืน

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้มุ่งเน้นไปยังโครงร่างของนโยบายและความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานในบริบทปัจจุบันของสังคมไทยที่มีการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของแนวโน้ม แนวปฏิติที่ดีและวิธีที่ใช้ได้จริงเพื่อนำไปปรับใช้กับแนวทางการมีความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่อุปทานที่มีความเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก ทั้งนี้ได้มีการยกตัวอย่างของธุรกิจที่มีความโดดเด่นในการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างรับผิดชอบซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจเสื้อผ้าและอาหาร

โครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียเป็นโครงการที่มีการพัฒนาร่วมกันระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศและโออีซีดีโดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป(EU) เพื่อให้ภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนหารือถึงความท้าทายและโอกาสในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โครงการนี้จัดขึ้นใน 6 ประเทศในเอเชีย ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม สำหรับในประเทศไทย โครงการนี้มุ่งเน้นไปยังภาคเกษตรและชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นสองภาคอุตสาหกรรมที่สร้างงานจำนวนมากในภูมิภาคและยังมีบทบาทสำคัญที่เชื่อมเศรษฐกิจการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย รวมถึงทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงถึงความยึดมั่นในคุณค่าของสหภาพยุโรปที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน งานที่มีคุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับโครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย สามารถเยี่ยมชมได้ ที่เว็บไซต์ www.ilo.org/rsca

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานเสวนา

กรุณาติดต่อ คุณ ชญานิศ ธรรมปริพัตรา
เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการประจำประเทศไทย
โทร.: 094 772 3322, อีเมล์: thamparipattra@ilo.org

สื่อมวลชน

กรุณาติดต่อ คุณ จิราพร วงศ์ไพฑูรย์
เจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสาร
โทร.: 089 900 5654; อีเมล์: jiraporn@ilo.org